ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา)




อาการ

 ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง (conjunctival injection) แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออก (petichiae) บริเวณผิวหนังได้
 ความแตกต่างระหว่างDF/DHF กับการติดเชื้อ chikungunya
   1. ใน chikungunya มีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าใน DF/DHF คนไข้จึงมาโรงพยาบาลเร็วกว่า
   2. ระยะของไข้สั้นกว่าในเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบใน chikungunya ได้บ่อยกว่าใน DF/DHF โดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน
   3. ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าใน DF/DHF
   4. ไม่พบ convalescent petechial rash ที่มีลักษณะวงขาวๆใน chikungunya
   5. พบผื่นได้แบบ maculopapular rash และ conjunctival infection ใน chikungunya ได้บ่อยกว่าในเดงกี
   6. พบ myalgia / arthralgia ใน chikungunya ได้บ่อยกว่าในเดงกี
   7. ใน chikungunya เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึง 15% ซึ่งสูงกว่าในเดงกีถึง 3 เท่า

การติดต่อ

 ติดต่อกันได้โดยมียุงลาย Aedes aegypti เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้

กลุ่มเสี่ยง

 ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุม

พฤติกรรมเสี่ยง

 1.ผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น
 2.ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มียุงลายชุกชุม
 3.นักท่องเที่ยวหรือการเดินทางไปยังถิ่นที่อยู่อาศัยของเชื้อนี้/ของยุงลาย
 4.ไม่รู้จักป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด

การป้องกัน

 เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนเฉพาะ ดังนั้นการป้องกันจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยการหลีกเลี่ยงมิให้ยุงลายกัด



ที่มารูปภาพ : http://beezab.com
ที่มาวีดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=f9ELUM2ZPcs