ไข้ดำแดง




อาการ

  - แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และเจ็บคอมาก (ถ้าแหล่งของการติดเชื้อไม่ได้อยู่ที่ทอนซิลจะไม่เจ็บคอ แต่จะมีแผลที่ผิวหนังแทน) อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย
 - หลังจากมีไข้ภายใน 1-2 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณรอบคอ หน้าอก และรักแร้ แล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขาอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง (ผู้ป่วยบางรายอาจพบผื่นเป็นอาการแรกก็ได้) ผื่นจะมีลักษณะเป็นเม็ดหยาบ ๆ เมื่อลูบดูจะรู้สึกสาก ๆ คล้ายกระดาษทราย ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ คล้ายหนังห่าน (Goose bumps) ผื่นมักจะไม่ขึ้นที่ใบหน้า แต่อาจพบในลักษณะที่แก้มแดงและรอบปากซีด ผู้ป่วยอาจมีอาการคันได้ - ต่อมาผื่นจะปรากฏเด่นชัดขึ้น (มีสีเข้มมากขึ้น) ในบริเวณร่องหรือรอยพับตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่คอ รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ และข้อพับขา
 - หลังจากนั้นในบริเวณเหล่านี้จะปรากฏเป็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนังซึ่งเรียงกันเป็นเส้น (เกิดจากการแตกของหลอดเลือดฝอย) เรียกว่า “เส้นพาสเตีย” (Pastia’s lines) ซึ่งเส้นเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 1-2 วันหลังจากผื่นตามตัวหายไป
 - อาการเจ็บคอจะเป็นมากจนกลืนอะไรไม่ค่อยได้ ในช่วง 1-2 วันแรกของไข้อาจพบลิ้นมีฝ้าขาวปกคลุมและมีตุ่มแดงยื่นขึ้นเป็นตุ่ม ๆ สลับกันดูคล้ายผลสตรอว์เบอร์รีที่ยังไม่สุกดี เรียกว่า “ลิ้นสตรอว์เบอร์รีขาว” (White strawberry tongue) แล้วทั้งลิ้นและคอจะแดงขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อเข้าในช่วงหลังวันที่ 4 ของไข้ ฝ้าขาวที่ลิ้นจะลอกเป็นสีแดงดูคล้ายผลสตรอว์เบอร์รีที่สุกเต็มที่ เรียว่า “ลิ้นสตรอว์เบอร์รีสีแดง” (Red strawberry tongue) ส่วนทอนซิลเองก็จะบวมแดงและมีจุดหนองสีขาว ๆ อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโตด้วย
  - ผื่นจะเริ่มจางหายหลังขึ้นอยู่ประมาณ 3-4 วัน (ในช่วงประมาณวันที่ 6 ของโรค) หลังจากผื่นจางได้ประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกของผิวหนัง โดยมักเห็นได้เด่นชัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ซึ่งอาจเห็นลอกเป็นแผ่น ส่วนตามลำตัวมักจะลอกเป็นขุย ๆ อาการผิวหนังลอกนี้เป็นลักษณะจำเพาะของโรคไข้อีดำอีแดง ผู้ป่วยบางรายอาจลอกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์

การติดต่อ

 เชื้อชนิดนี้จะมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือติดต่อโดยการสัมผัสกับแผลที่ติดเชื้อโดยตรง หรือติดต่อโดยการสัมผัสกับมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ (เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หนังสือ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ

กลุ่มเสี่ยง

 เด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี

พฤติกรรมเสี่ยง

 - กินอาหารที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กขาดสารอาหาร จึงมีภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ น้อยลง
 - มีถิ่นพำนักแออัด โดยเฉพาะในเด็กที่มีฐานะยากจนทั้งในเมืองและในชนบท มักจะอาศัยอยู่ในห้องนอนที่คับแคบและอยู่กันอย่างแออัด จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่าย
 - คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดง

การป้องกัน

 เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ การป้องกันการติดเชื้อจึงสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคติดเชื้อผ่านการสัมผัสและฝอยละออง ดังนี้
 1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
 2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่หากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
 3. อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ เครื่องนอน แก้วน้ำ เป็นต้น
 4. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอ ทั้งก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการขยี้ตา แคะไชจมูก หรือปาก
 5. ผู้ปกครองควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันทีที่พบ
 6. หากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
 7. สำหรับผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น และต้องรีบรักษาโรคนี้ให้หายเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
 8. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคไข้รูมาติกหรือมีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย (Rheumatic heart disease) ต้องให้การป้องกันระยะยาว เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอซ้ำอีก โดยให้ยาฉีดเพนนิซิลิน ฉีดเดือนละ 1 ครั้ง
 9. ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ แต่กำลังศึกษาและพัฒนาวัคซีนอยู่
 10. อีกวิธีป้องกันที่สำคัญคือ การปรับปรุงเศรษฐกิจของครอบครัวหรือของชุมชนให้ดีขึ้น เพราะเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการสาธารณสุขนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมาก ถ้าเศรษฐกิจดีการสาธารณสุขก็จะดีขึ้นตาม



ที่มารูปภาพ : https://www.amarinbabyandkids.com
ที่มาวีดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=RsqM7e7BrcE